Sunday, December 16, 2012

ซีอาน 27 ประวัติวัดเส้าหลิน

วัดเส้าหลิน (Shoalin Temple or Shaolin Monastery; จีน: 少林寺; พินอิน: Shàolínsì เส้าหลินซื่อ; แต้จิ๋ว: เสี้ยวลิ้มยี่; คำแปล: วัดป่าบนเขาเส้าซื่อ) เป็นวัดทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเก่าแก่อายุมากกว่า 1,500 ปี 

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน หนึ่งในจำนวนห้ายอดเขาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวจีน เป็นเทือกเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทั้งในด้านของประวัติศาสตร์และในแวดวงยุทธภพ ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่จำนวน 72 ยอด 

แบ่งเป็นสองกลุ่มคือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ (จีน: 太室山) จำนวน 36 ยอด และกลุ่มของเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室山) จำนวน 36 ยอด ในอำเภอเติงเฟิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจวและเมืองลั่วหยาง 

บริเวณรอบ ๆ วัดเส้าหลินเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ใช้สำหรับฝึกวิทยายุทธของหลวงจีน รายล้อมด้วยป่าเจดีย์หรือถ่าหลิน ซึ่งเป็นสุสานของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีน ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของราชวงศ์ถัง

วัดเส้าหลินมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศจีน และในต่างประเทศ ได้รับการกล่าวขานในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งวิชาการต่อสู้และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน 

ปรากฏชื่อในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงวิชาเพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินอยู่เสมอ โดยเฉพาะนิยายกำลังภายในของกิมย้งเช่น มังกรหยก, จอมใจจอมยุทธ์, จิ้งจอกภูเขาหิมะ เป็นต้น 

ปัจจุบันมีหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูจำนวน 180 องค์ มีหลวงจีน ซือ หย่งซิน (จีน: 釋永信) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในประเทศจีน ได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ร่วมกับโบราณสถานอีก 5 แห่ง


วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1038 ในสมัยของไท่เหอเจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ ในปี พ.ศ. 929 - พ.ศ. 1077 เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室) ทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน (จีน: 松山) ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่เกือบทั้งหมดด้วยป่าหรือหลิน (จีน: 林) ในภาษาจีน จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดเส้าหลิน 


ภายหลังจากสร้างขึ้นมาได้ประมาณ 32 ปี ในปี พ.ศ. 1070 พระโพธิธรรมเถระหรือตั๊กม้อ พระภิกษุจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนที่วัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก 

อีกทั้งแลเห็นว่าวัดเส้าหลินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความสงบร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุพุทธศาสนานิกายเซน จึงเข้าพำนักและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรก ทำให้ชื่อเสียงของวัดเส้าหลิน อยู่ในฐานะเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซน ในประเทศจีน กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตั๊กม้อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ชาวจีนเป็นอันมาก โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยายุทธเส้าหลินให้ลึกล้ำขึ้นกว่าเดิม ถ่ายทอดธรรมะและวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนได้ฝึกฝนเพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ เนื่องจากเห็นว่าหลวงจีนส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถนั่งสมาธิวิปัสสนาและเจริญกรรมฐานอย่างเคร่งครัด 

จึงหัดให้หลวงจีนเริ่มฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งควบคู่กับการปฏิบัติธรรม การฝึกสอนวิทยายุทธและกังฟูของตั๊กม้อ ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นที่มาของวิทยายุทธเส้าหลินที่สง่างามและทรงพลังเช่น หมัดเส้าหลิน (Shaolin Chuan) หรือเพลงหมัดเส้าหลิน (Shaolin Ch'uan Fa) รวมทั้งหมด 18 กระบวนท่า 


อีกทั้งเป็นการปฏิรูปวิทยายุทธครั้งสำคัญเช่น การขยายท่าฝ่ามืออรหันต์จาก 18 ท่า เป็น 72 ท่า โดยเล็งเห็นว่าวิชากังฟูเส้าหลิน ควรได้รับการถ่ายทอดให้ขยายออกไป เช่นเดียวกับนิกายเซนที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่

เจตนารมณ์ของตั๊กม้อประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ศิษย์ของตั๊กม้อเมื่อลาสิกขาออกไปจากวัดเส้าหลินแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นวีรบุรุษของชาวจีนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น งักฮุย แม้ในประเทศจีนจะมีวัดนิกายต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก 

แต่เนื่องจากความเก่าแก่ประกอบกับชื่อเสียงอันโด่งดัง เลื่องลือกล่าวขานในด้านวิชากังฟูของเส้าหลิน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลวงจีนหลาย ๆ องค์ นิยมเดินทางมาบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ กระบวนท่าวิทยายุทธและกังฟู 

ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มเดินทางมาวัดเส้าหลิน เพื่อฝึกฝนวิชากังฟูของตั๊กม้อ จนได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และกลายเป็นมหาอำนาจกำลังภายในของจีนมากว่าพันปี รวมทั้งยังเกิดสาขาของวัดเส้าหลินอีกนับสิบแห่งทั่วทุกมุมของโลก

ตามตำนานจีนโบราณ ศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลิน มีต้นกำเนิดจากการที่หลวงจีนใช้วิชากังฟู ฝึกฝนร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อเป็นการขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งสมาธิวิปัสนากรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนา จนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดเส้าหลิน 

ชาวจีนเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูคือตั๊กม้อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกบน "ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย" แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลินระบุว่า หลวงจีน 13 องค์ ได้เข้าช่วยเหลือจักรพรรดิถังไท่จงหรือหลี่ซื่อหมินแห่งราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ. 1161 - พ.ศ. 1450 ฝ่าวงล้อมในระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลายจนได้รับชัยชนะ

ต่อมาถังไท่จงได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีนที่ร่วมในการสู้รบให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่และสิงโตหิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอารามหน้าวัดเส้าหลิน 

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทรงอนุญาตให้หลวงจีนเข้าร่วมฝึกซ้อมแบบทหาร ร่วมกับกองกำลังทหารในราชสำนัก รวมทั้งให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และสามารถฉันเนื้อสัตว์ได้ 

จากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากทางราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศในสมัยซ่งหรือซ้อง

ในปี พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822 วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ในปี พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2454 และในปี พ.ศ. 2270 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้ง แห่งราชวงศ์ชิงได้ประมาณ 5 ปี 

จากเหตุผลทางด้านการเมือง ราชสำนักได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง แม้ว่าหลวงจีนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีการลักลอบแอบฝึกกังฟูกันอย่างลับ ๆ ทั้งในบริเวณวัดและตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้วิชากังฟูเส้าหลินไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดเส้าหลินดั้งเดิมนั้นถูกจักรพรรดิหยงเจิ้ง ส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาทำลาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามกังฟูที่มีรากฐานมาจากวัดเส้าหลินแห่งแรกในเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนและทั่วทุกแห่งในโลก 

ในส่วนที่ถูกเผาทำลาย ปัจจุบันมีการทำนุบำรุงบูรณะหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 1,500 ปี วัดเส้าหลินการถูกเผาครั้งยิ่งใหญ่จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน และตั้งแต่ใน ปี พ.ศ. 2000 มีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ รื้อบริเวณรอบ ๆ ที่ถูกไฟเผาไหม้ ปลูกต้นไม้ มีการสร้างอารามต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างสวยงามในปี พ.ศ. 2400

ปัจจุบันในประเทศจีนมีวัดเส้าหลินทั้งหมดสามแห่ง แห่งแรกตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอนาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซนและกังฟูเส้าหลิน แห่งที่สองตั้งอยู่ที่เทือกเขาผานซาน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หงวน 

และแห่งที่สามตั้งอยู่ที่เทือกเขาจิ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน เรียก "สำนักเสี้ยวลิ้มใต้" คู่กับ "สำนักเสี้ยวลิ้มเหนือ" ที่เทือกเขาซงซาน สำนักใหญ่ของวัดเส้าหลิน 

แบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ๆ 

คือสายพระบู๊ ซึ่งเป็นสายของการการสืบทอดศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของตั๊กม้อ 
และสายพระวินัยซึ่งเป็นสายที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

Post a Comment

Thank you!